วันนี้เราจะนำเสนออีกหนึ่งความสามารถของคนไทย ที่สามารถค้นพบปะการังสายพันธุ์ใหม่ของโลกได้สำเร็จกันค่ะ โดยรศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการเปิดเผยว่า จากการที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ได้ร่วมกันกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น ทางคณะฯ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายของปะการัง ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง รวมไปถึงการฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง ทั้งบริเวณฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

จนกระทั่งล่าสุด ได้มีการค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด โดยปะการังชนิดนี้อยู่ภายใต้สกุล “Chironephthya” จึงได้มีการนำเสนอเรื่องเพื่อกราบบังคลทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงทราบ และขอทรงมีพระราชวินิจฉัยพระราชทานชื่อวิทยาศาสตร์
โดยหนึ่งในปะการังอ่อนชนิดใหม่นี้ที่ทางจุฬาฯ ได้ค้นพบนี้ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อชนิดว่า “sirindhornae” (สิรินธรเน) ซึ่งเป็นชื่อตามพระนามขององค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ แสำหรับปะการังอ่อนอีกชนิดหนึ่งได้ชื่อว่า “cornigera” (คอร์นิกีร่า) ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปะการังชนิดใหม่ของโลกถูกค้นพบในน่านน้ำไทย ทั้งยังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารวิจัยระดับนานาชาติ Zootaxa ในปี 2563 อีกด้วย

ซึ่งปะการังอ่อนชนิดใหม่ทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นปะการังที่หาชมได้ยาก แต่สามารถพบได้ในบริเวณหมู่เกาะแสมสารและที่หมู่เกาะแถวพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีระดับความลึกอยู่ที่ประมาณ 8 – 19 เมตร ซึ่งปะการังจะมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 4 เซนติเมตร ปะการังอ่อนทั้งสองชนิดนี้ชอบอาศัยในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล
สำหรับการค้นพบในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการ การศึกษาวิจัยความหลากหลายของปะการังในน่านน้ำไทย ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับการสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกภายใต้ยูเนสโก (UNESCO-IOC/WESTPAC) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ซึ่งแสดงให้เห็นเลยว่า การค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลกในน่านน้ำไทยในครั้ง ได้เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าใต้ท้องทะเลของประเทศไทยยังคงมีความสมบูรณ์ สวยงาม และยังมีความหลากหลายของปะการังมากมาย ทั้งนี้ ทีมค้นพบยังเชื่ออีกว่าปะการังใต้ท้องทะเลไทยอีกหลาย ๆ ชนิด ก็ยังคงรอให้ทีมวิจัยได้ไปค้นพบและทำการศึกษาวิจัยอีกหลายสายพันธุ์แน่นอน
ขอบคุณข้อมูล : Sanook